วันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2560

อนุทินที่ 4 แบบฝึกหัดทบทวนบทที่ 2


แบบฝึกหัดทบทวน เมื่อนักศึกษาได้ศึกษาบทเรียนนี้แล้ว จงตอบคำถามต่อไปนี้ให้ถูกต้อง

1. ใครเป็นผู้ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรก และมีเหตุผลอย่างไร และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา เป็นอย่างไร อธิบาย
          คณะราษฎร์เป็นผู้ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรก โดยให้เหตุผลว่าตอนนี้การศึกษามีการพัฒนาขึ้นและประชาชนมีความรู้มากขึ้น ดังนั้นอยากให้เหล่าข้าราชการและประชาชนมีสิทธิมีเสียงในการออกความเห็นชอบในกฎหมายและพัฒนาประเทศ ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับแรกนั้น มีประเด็นเกี่ยวกับการศึกษา ได้แก่บุคคลสามารถจัดทรัพย์สิน พูด เขียน โฆษณา ศึกษา อบรมและประชุมได้อย่างเปิดเผย



2. แนวนโยบายแห่งรัฐในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ของรัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2492 ได้กำหนดอย่างไร อธิบาย 
          แนวนโยบายแห่งรัฐ ของรัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2492  ที่เกี่ยวกับการศึกษาได้กำหนดไว้ คือ หมวดที่ 4 หน้าที่ของชนชาวไทย ความว่า การศึกษามีจุดประสงค์ให้ประชาชนเป็นพลเมืองที่ดี ร่างกายแข็งแรง มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพและ มีจิตใจเป็นนักประชาธิปไตย รัฐเป็นผู้ควบคุมดูแลสถานศึกษา โดยชั้นประถมศึกษารัฐจะไม่เก็บค่าเล่าเรียน ช่วยเหลืออุปกรณ์การศึกษา และสนับสนุนการค้นคว้าในทางศิลปะและวิทยาศาสตร์ แต่ในระดับอุดมศึกษานั้นให้สถานศึกษาเป็นฝ่ายจัดการเองภายในขอบเขตของกฎหมาย
3. เปรียบเทียบแนวนโยบายแห่งรัฐประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของรัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช2511 พุทธศักราช 2517 และ พุทธศักราช 2521 เหมือนหรือต่างกันอย่างไร อธิบาย
          แนวนโยบายแห่งรัฐประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของรัฐธรรมนูญฯในทั้ง 3 ฉบับมีความคล้ายกันแต่มีการเพิ่มประเด็นต่าง ๆ เข้ามาอย่างละนิด โดยแนวนโยบายแห่งรัฐประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของรัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2511 รัฐเป็นผู้ควบคุมดูแลสถานศึกษา โดยชั้นประถมศึกษาจะไม่เก็บค่าเล่าเรียน ช่วยเหลืออุปกรณ์การศึกษาตามสมควร และสนับสนุนการค้นคว้าในทางศิลปะและวิทยาศาสตร์ แต่ในระดับอุดมศึกษานั้นให้สถานศึกษาเป็นฝ่ายจัดการเองภายในขอบเขตของกฎหมาย เมื่อรัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2517 ประกาศใช้จะมีความคล้ายกับ รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2511 โดยรัฐและท้องถิ่นยังเป็นดูแลสถานศึกษา แต่เพิ่มจากชั้นประถมเป็นการศึกษาภาคบังคับ เพิ่มการให้ทุนช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้ และสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับศิลปะวิทยาการ สถิติ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเพื่อนำไปพัฒนาประเทศ รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2521 ประกาศใช้จะมีความคล้ายกับ รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2517 โดยเพิ่มประเด็นการส่งเสริมให้เยาวชนเป็นผู้มีความสมบูรณ์ทั้งกาย จิตใจและ สติปัญญา  
4. ประเด็นที่ 1 รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2475-2490   ประเด็นที่ 2  รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 25492-2517  ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเหมือนหรือต่างกันอย่างไร  อธิบาย
          ในรัฐธรรมนูญฯทั้งสองประเด็นนั้นมีความแตกต่างกัน โดยประเด็นที่ 1 รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2475-2490 กล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาไม่มาก คือ การกำหนดสิทธิเสรีภาพในการพูด เขียน ศึกษา ประชุม ตั้งสมาคม การอาชีพ ได้อย่างเปิดเผย แต่ในประเด็นที่ 2 รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 25492-2517 ได้มีรายละเอียดเกี่ยวกับการศึกษามากยิ่งขึ้น ทั้งสิทธิ เสรีภาพทางการศึกษาที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและหน้าที่พลเมือง การดูแลสถานศึกษาของรัฐและท้องถิ่นในการศึกษาภาคบังคับ การที่สถานศึกษาจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาเอง การช่วยเหลือทุนการศึกษาแก้ผู้ยากไร้ และการสนับสนุนศิลปะวิทยาการ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาประเทศ
5. ประเด็นที่ 3 รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2521-2534 ประเด็นที่ 4 รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2540-2550 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเหมือนหรือต่างกันอย่างไร อธิบาย
          ในรัฐธรรมนูญฯทั้งสองประเด็นนั้นมีความแตกต่างกัน โดยประเด็นที่ 3 รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2521-2534 ให้ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพในการศึกษาภาคบังคับเสมอกัน โดยไม่ขัดต่อกฎหมายการศึกษา รัฐบำรุงระบบการศึกษาและควบคุมสถานศึกษา ส่วนระดับอุดมให้ดำเนินกิจการของตนเอง ซึ่งการศึกษาภาคบังคับของรัฐและส่วนของท้องถิ่นไม่มีค่าเล่าเรียน รัฐช่วยเหลือทุนการศึกษาแก่ผู้ยากไร้ สนับสนุนการวิจัยในศิลปะวิทยาการ การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และส่งเสริมให้เยาวชนสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา คุณธรรม และจริยธรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และเพื่อความมั่นคงของประเทศ แต่ประเด็นที่ 4 รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2540-2550 ได้ให้สิทธิและเสรีภาพแก่บุคคลเสมอกันทั้งชายหญิง ผู้ยากไร้ คนพิการ ในการศึกษาขั้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยต้องทั่วถึง มีคุณภาพ และไม่เก็บค่าใช้จ่าย เพื่อพัฒนาความเป็นปึกแผ่น ความเข้มแข็งของชุมชน และส่งเสริมให้เยาวชนมีความรู้รักสามัคคีและการเรียนรู้ ปลูกจิตสำนึกในศิลปวัฒนธรรมประเพณีของชาติและของท้องถิ่น รัฐสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาโดยให้มีกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ และกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มมาตรฐานคุณภาพการศึกษาให้เท่าเทียม          
6. เหตุใดรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับจะต้องระบุในประเด็นที่รัฐจะต้องจัดการศึกษาอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง อธิบาย
          เพื่อให้สถานศึกษาได้ให้สิทธิ เสรี แก่ประชาชนทั่วไปได้รับศึกษาทุกคน และไม่มองข้ามประชาชนที่เป็นผู้ยากไร้ เป็นผู้พิการ และทุพพลภาพหรือผู้ด้อยโอกาส ให้ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกับประชาชนทั่วไป เพื่อสามารถเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งพาได้ 
 
7. เหตุใดรัฐจึงต้องกำหนด “บุคคลมีหน้าที่รับการศึกษาอบรมตามเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ” จงอธิบาย หากไม่ปฏิบัติจะเกิดอะไรขึ้น
          เพราะประชาชนจะได้ปฏิบัติเหมือนกัน และเยาวชนจะได้รับสิทธิในการศึกษาอย่างเหมาะสมและเท่าเทียมกัน โดยพ่อแม่หรือผู้ปกครองนำบุตรหลานเข้ารับการศึกษาตามอายุและระดับชั้นที่กำหนด ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามจะถูกต้องโทษปรับ
8. การจัดการศึกษาที่เปิดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาหาก เราพิจารณารัฐธรรมนูญมีฉบับใดบ้างที่ให้องค์กรส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วม  และถ้าเปิดโอกาสให้ ท้องถิ่นมีส่วนร่วมมากขึ้นท่านคิดว่าเป็นอย่างไร จงอธิบาย   
          รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2550 ได้เปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ซึ่งคิดว่าจะช่วยให้การศึกษามีมาตรฐานคุณภาพการศึกษาที่เท่าเทียม และประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงทั่วภูมิภาค ทั้งในเมืองและที่กันดาร
9. เหตุใดการจัดการศึกษารัฐต้องคุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชนส่งเสริมความเสมอภาคทั้งหญิงและชาย พัฒนาความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว และความเข็มแข็งของชุมชน สังเคราะห์ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพและผู้ด้อยโอกาส จงอธิบาย 
          เพราะสังคมในปัจจุบันให้การเสมอภาคระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย ในการศึกษาก็เช่นกัน รัฐจะให้ความสำคัญต่อสถาบันครอบครัวและชุมชน ซึ่งเป็นสถาบันเล็ก ๆ ที่ใกล้ชิดและสามารถปูพื้นฐานเบื้องต้น และสร้างเจตนารมณ์ให้แก่เด็กเกี่ยวกับการศึกษาได้ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพและผู้ด้อยโอกาส ได้รับการศึกษา เพื่อให้พวกเขาได้เกิดความรู้สึกถึงการได้รับความสำคัญ มีโอกาสที่จะพัฒนาความสามารถของตัวเองให้สังคมยอมรับ เพื่อเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
10. ผลการจัดการศึกษาที่ผ่านมาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีผลต่อการพัฒนาประเทศ อย่างไรบ้าง จงอธิบาย
          การจัดการศึกษาที่ผ่านมาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีผลต่อการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของชาติ เพราะหากเยาวชนได้รับการศึกษาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว ไม่ว่าจะชาย หญิง คนพิการ คนด้อยโอกาสหรือผู้ยากไร้ก็จะได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม ทำให้บุคคลเหล่านั้นมีความรู้และสามารถนำไปประกอบอาชีพและมีรายได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดการพัฒนา เมื่อได้รับการศึกษา เยาวชนจะได้รับการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม เพื่อการดำรงอยู่ในสังคมอย่างสงบสุข เยาวชนจะได้รู้จัก ความสามัคคี ความเป็นปึกแผ่น การเคารพกฎหมาย ทำให้เป็นพลเมืองที่ดี มีความมั่นคงของชาติ ซึ่งจากที่กล่าวมาหากเศรษฐกิจดี สังคมดี ก็จะส่งผลให้การพัฒนาประเทศเป็นไปในทางที่ดี

          

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น